เทศกาลกินเจ

2757 จำนวนผู้เข้าชม  | 


         หลังจากวันไหว้พระจันทร์ประมาณ 15 วัน ก็จะถึงเทศกาลกินเจ วันนี้เลยขอนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับเทศกาลกินเจมาให้อ่านกันอีกครั้งค่ะ
 

เทศกาลกินเจ       

         สัญลักษณ์ที่เรามักพบเห็นกันในเทศกาลนี้ ตามร้านอาหารหรือแผงลอย คือ ธงสีเหลืองที่มีตัวอักษรภาษาไทยหรือภาษาจีนสีแดง ว่า "เจ" เพื่อแสดงให้รู้ว่า ร้านนี้ขายอาหารเจค่ะ

 

 

หลักธรรมในการกินเจ

         ที่มาของเทศกาลกินเจ มีหลากหลายตำนาน แต่เนื้อแท้ของการกินเจนี้ เชื่อว่ากินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยหลักธรรม 2 ประการ คือ

1. กินอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่เอาเลือดเอาเนื้อ ของสัตว์ใด ๆ มารับประทาน

2. กินอย่างไม่เบียดเบียนตนเอง คือ การเลือกกินอาหารที่ไม่เป็นโทษ ต่อร่างกายของเรา
 

จุดประสงค์ของการกินเจ

         ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. กินเพื่อสุขภาพ 

         อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิตระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ

2. กินด้วยจิตเมตตา

         เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรม และมีจิตสำนึกอันดีงาม ย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจ และที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตาย เช่นเดียวกับคนเรา

3. กินเพื่อเว้นกรรม

         ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่า การกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่า การซื้อจากผู้อื่น ก็เหมือนกับการจ้างฆ่า เพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้า ทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลง เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ

         เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้ จึงหยุดกินหยุดฆ่า หันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
 

เจกับมังสวิรัติ



 

         อาหารมังสวิรัติ คือ อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกับอาหารเจ แต่การกินมังสวิรัตินั้น สามารถนำผักทุกชนิดมาประกอบอาหารได้ ซึ่งต่างจากการกินเจ ที่ต้องงดเว้นผักฉุน 5 ประเภท รวมทั้งของเสพติดทุกชนิด และยังคงต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการถือศีลกินเจที่แท้จริง ในขณะที่การกินมังสวิรัติ หมายถึง การไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น

         ในช่วงเทศกาลกินเจ จะมีอาหารหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นอาหารเจจริง ๆ และอาหารเจที่ทำเลียนแบบพวกเนื้อสัตว์ บางอย่างทำเหมือนจนคิดว่าเป็นเนื้อสัตว์จริง ๆ มีหลายคนคิดว่า การรับประทานอาหารเจจะทำให้เกิดโรคขาดอาหารและทำให้อ้วน แต่ทั้งนี้ หากคนที่กินเจเลือกกินอาหารอย่างถูกหลักแล้ว ก็จะได้รับสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

         การ กินเจ หรือประกอบอาหารเจเพื่อรับประทานในช่วงนี้ เราสามารถเลือกอาหารพวกข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง มาทดแทนได้

         ใครที่ว่ากินเจแล้วอ้วน ก็ให้เลือกกินพวกผักต่าง ๆ แทนพวกแป้งกันค่ะ 
 

ข้อห้ามและการปฏิบัติตนในช่วงกินเจ

         ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน มีข้อห้ามและข้อปฏิบัติอยู่หลายข้อ ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าปฏิบัติได้ครบทุกข้อ จึงจะเข้าถึงการกินเจที่ถูกต้อง และได้บุญอย่างแท้จริง

1. งดกินผักฉุน หรือผักที่มีกลิ่นแรง

         ประกอบไปด้วยพืชผัก 5 ชนิดที่เชื่อว่าเป็นโทษต่อร่างกาย เพราะผักเหล่านี้มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง วิชาแพทย์โบราณจีนเชื่อว่าจะเป็นพิษต่ออวัยวะสำคัญ 5 ชนิด และ ธาตุทั้ง 5 ของร่างกาย สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานไม่ควร รับประทาน เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้เร่าร้อน ใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวไม่ติด จิตใจจะไม่บริสุทธิ์ ได้แก่
 

พืชผัก ๕ ชนิด

อวัยวะหลักภายในทั้ง ๕

เบญจธาตุ (ธาตุสำคัญ ๕)

 ๑. กระเทียม (หัวกระเทียม, ต้นกระเทียม)  
 ๒. หัวหอม (ต้นหอม, ใบหอม, หอมแดง,หอมขาว,หอมหัวใหญ่)
 ๓. หลักเกียว (คล้ายกระเทียม แต่ต้นเล็กกว่า)    
 ๔. กุยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)
 ๕. ใบยาสูบ (บุหรี่,ยาเส้น,ของเสพติดมึนเมา)

 ทำลายการทำงานของ หัวใจ
 ทำลายการทำงานของ ไต
 ทำลายการทำงานของ ม้าม
 ทำลายการทำงานของ ตับ
 ทำลายการทำงานของ ปอด

 กระทบกระเทือนต่อ ธาตุไฟ ในกาย
 กระทบกระเทือนต่อ ธาตุน้ำ  ในกาย
 กระทบกระเทือนต่อ ธาตุดินในกาย
 กระทบกระเทือนต่อ ธาตุไม้ ในกาย
 กระทบกระเทือนต่อ ธาตุโลหะ ในกาย

        
         พืชผักและผลไม้ เป็นของคู่กันเสมอ นอกจากผักสดหรือผักที่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว ผลไม้สด ๆ จำเป็นต้องรับประทานหลังอาหารทุก ๆ มื้ออย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเมล็ดธัญพืช ได้แก่ ถั่ว, ถั่วเปลือกแข็งทุกประเภท, พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก, มัน มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะถั่ว มีสารอาหารครบทุกหมู่ (ได้แก่ คาร์โบไฮเดรท คือแป้งและน้ำตาล, โปรตีน, ไขมัน , วิตามิน, เกลือแร่หลายชนิด) การเลือกซื้อเพื่อนำมาปรุงและการบริโภคในแต่ละวัน ควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง ๕ เพื่อบำรุงส่งเสริมให้อวัยวะหลักภายในทั้ง ๕ แข็งแรงทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
 

ตารางผัก, ผลไม้ แบ่งตามสีทั้ง ๕

หมู่สี

ธาตุ

ผัก

ถั่ว

ผลไม้

 สีแดง (แดงส้ม, แสด, ชมพู)
 สีดำ (น้ำเงิน, ม่วง)
 สีเหลือง (เหลืองแก่, เหลืองอ่อน)
 สีเขียว (เขียวเข้ม, เขียวอ่อน)
 สีขาว (ขาวนวล , ขาวสะอาด)

ไฟ
น้ำ
ดิน
ไม้
โลหะ

 มะเขือเทศ, พริกสุก, หัวแครอท ฯลฯ
 มะเขือม่วง, เผือก, เห็ดหูหนู ฯลฯ
 ฟักทอง, ข้าวโพด, พริกเหลือง ฯลฯ
 ผักคะน้า, ถั่วฝักยาว, ผักบุ้ง ฯลฯ
 หัวผักกาดขาว, ผักกาดขาว, กะหล่ำดอก ฯลฯ

  ถั่วแดง (บำรุงหัวใจ)
  ถั่วดำ (บำรุงไต)
  ถั่วเหลือง (บำรุงม้าม)
  ถั่วเขียว (บำรุงตับ)
  ถั่วขาว (บำรุงปอด)

 มะละกอ, ส้ม, แตงโม ฯลฯ
 ละมุด, ลูกหว้า, องุ่น ฯลฯ
 มะม่วง, กล้วย, ทุเรียน ฯลฯ
 ฝรั่ง, ชมพู่, มะเฟือง ฯลฯ
 มะพร้าว, น้อยหน่า ฯลฯ



         ผักผลไม้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง หาได้ยาก เช่น พืชผักผลไม้เมืองหนาว ควรยึดหลักราคาถูกประหยัด แต่มีคุณประโยชน์สูงจึงจะได้ชื่อว่า รู้จักฉลาดใช้ ฉลาดกิน ประหยัดยอด ประโยชน์เยี่ยม

         สำหรับถั่วทั้ง ๕ สีนี้ ราคาไม่แพง มีอยู่แพร่หลาย บางทีก็ทำเป็นของหวานต่าง ๆ เช่น ถั่วดำบวช, ถั่วแดงต้มน้ำตาล, ถั่วเหลืองน้ำกะทิ (เต้าส่วน), ถั่วเขียวต้มน้ำตาล, ถั่วลิสงอบหรือเคลือบน้ำตาล เป็นต้น

         นอกจากนี้ คนที่กินเจควรใช้งาปรุงผสมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงาขาว หรืองาดำ เพราะในเมล็ดงามีกรดไขมันไลโนเลอิค ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย งาที่บดแล้วจะมีกลิ่นหอมนำมาใช้ปรุงอาหารขนมได้ทุกประเภท ทำให้มีรสดีหอมน่ารับประทาน โดยรับประทานงาในปริมาณวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็นับว่าเพียงพอ
 
2. งดกินเนื้อสัตว์

         ประกอบไปด้วย เนื้อวัว หมู ปลา หรือสัตว์มีชีวิตที่ใช้เป็นอาหารได้ โดยมีการค้นพบของคนจีนโบราณบางสายว่า เลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่า มีพิษร้ายแรงแฝงอยู่ ด้วยความเชื่อที่ว่า ในขณะสัตว์ถูกฆ่าตาย ความตกใจกลัวจะทำให้มันหลั่ง สารพิษออกมาแพร่กระจายไปตามสายเลือดและเนื้อทั่วร่างกาย ตลอดปีที่เรากินเนื้อจึงเป็นการสั่งสมพิษไว้ จึงควรมีการสลายล้างพิษนี้ด้วยการงดเนื้อสัตว์ช่วงระยะเวลาหนึ่งเป็นประจำ ทุกปี

3. งดกินอาหารรสจัด


         รสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก หรือเปรี้ยวมาก ซึ่งปกติคนจีนจะไม่กินรสจัดอยู่แล้ว เพราะถือว่าจะเข้าไปทำลายสุขภาพ ส่งผลไปถึงอวัยวะหลัก ดังนี้

รส

ส่งผลต่ออวัยวะหลักภายใน

ขม
เค็ม
หวาน
เปรี้ยว
เผ็ด

หัวใจ
ไต
 ม้าม
 ตับ
 ปอด


4. กินอาหารที่คนกินเจด้วยกันปรุง

         ข้อนี้ถ้าปฏิบัติได้จะถือว่าบริสุทธิ์จริง ๆ สำหรับผู้ที่เคร่งครัด แต่ถ้าทำให้เกิดความยากลำบากก็ไม่จำเป็น

5. ใช้ถ้วยชามเฉพาะสำหรับอาหารเจ


         สำหรับผู้ที่เคร่งครัด ถ้วยชามที่ใช้กับอาหารคาว ซึ่งชาวจีนเรียกว่า "ชอ" นั้น จะนำมาใช้กับอาหารเจไม่ได้ ถือเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของคนจีน จะถือว่าล้างสะอาดหมดจดแล้ว ไม่จำเป็นต้องแยก ก็ไม่ถูกต้อง

6. รักษาศีลห้า ทำบุญทำทาน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต


         ข้อนี้ตรงกับการรักษาศีลของชาวพุทธ การฆ่าสัตว์ของชาวจีน ตั้งแต่สัตว์เล็ก ๆ ไป จนถึงสัตว์ใหญ่ เป็นข้อเคร่งครัดเช่นกัน

7.
รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ พูดจาไพเราะ

         คนที่ถือศีลกินเจ ไม่ใช่เพียงแต่กินของสะอาดเท่านั้น แต่คำพูดที่พูดออกจากปากก็ต้องสะอาดด้วย สิ่งไม่ดีทั้งหลายไม่ควรพูดหรือที่เรียกว่า "ปากเจ" ซึ่งประกอบไปด้วย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุแหย่ ไม่พูด เพ้อเจ้อ ถ้าปฏิบัติได้ก็ถือว่าสะอาดทั้งหมด

8. นุ่งขาวห่มขาว

         ข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็ใส่ชุดสีขาวตลอดจนถึงออกเจ เพราะเชื่อกันว่า นอกจากงดอาหารต่าง ๆ ในร่างกายสะอาดแล้ว ภายนอกแม้จะเป็นเครื่องแต่งกายก็ต้องสะอาดด้วย ข้อนี้ไม่เข้มงวดสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปที่แจตั๊วหรือสถานที่ทำพิธีกินเจ

9. งดดื่มสุราและของมึนเมา

         ตลอดช่วงเวลา 9 วัน ข้อนี้สำคัญ เพราะการงดอาหารที่เป็นของคาวแล้ว สิ่งที่สร้างความมึนเมาหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ก็ห้ามเข้าสู่ร่างกายด้วย

10. ห้ามดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง


         คนที่จะไปกินเจมักจะไปชุมนุมกันที่แจตั๊วหรือสถานที่กินเจ ซึ่ง ณ ที่นั้น เขาจะประดับดอกไม้ตั้งโต๊ะบูชา วางกระถางธูปและตั้งเครื่องเจต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็จุดโคม 9 ดวง เพื่อสมมติเป็น "เก๊าฮ้วงฮุดโจ้ว" นั่นเอง ซึ่งจะต้องจุดไว้ทั้งกลางวันและกลางคืนจนตลอดงาน เพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด ถ้าดับโคมไฟดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล และไม่ครบถ้วนพิธีการกินเจ

 
*** ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อห้ามในการกินเจ ใครจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเชื่อส่วนบุคคลนะคะ ***


"อย่างไรก็ดี การกินเจนั้นจะต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ ด้วย จึงจะเป็นการกินเจที่ถูกต้องและสมบูรณ์"


 
ที่มา
- วิกิพีเดีย
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้